คลังความรู้ โรงพยาบาลแม่ลาว
งานวิจัยและพัฒนาเพื่อจัดการความรู้
โรงพยาบาลของชุมชน เพื่อสร้างสรรค์สุขภาวะอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน

ระดับค่า BMI ท้วม / อ้วนระดับ 1

ถ้าคุณไม่ใช่คนออกกำลังกาย คุณเริ่มมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน หรือมีรูปร่างท้วม ค่าดัชนีมวลกายมีค่าระหว่าง 23 – 24.90

ข้อแนะนำ

1. ต้องเริ่มควบคุม และเลือกกินอาหารให้เหมาะสม ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหาร โดยเน้นเลือกกินอาหารที่ดีมีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ กำหนดปริมาณตามความต้องการพลังงานของร่างกาย หรือลดจากเดิมเล็กน้อย ประมาณ 200-300 กิโลแคลอรี โดยค่าปริมาณพลังงานจากอาหารที่กินในแต่ละวันเฉลี่ยไม่ควรน้อยกว่า 1,000 – 1,200 กิโลแคลอรี หรือไม่น้อยกว่าค่า BMR ของแต่ละคน เพื่อป้องกันการจำกัดอาหารมากจนเกินไป ที่อาจส่งผลให้ร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ

ใส่ใจเรื่องโภชนาการให้มากขึ้น ลดอาหารหวาน มัน และเค็มจัด โดยเฉพาะ อาหาร ขนม ของหวาน เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อาหารแปรรูปต่างๆ กินอาหารให้หลากหลายในสัดส่วนที่เหมาะสม เลือกกินข้าว – แป้ง ขัดสีน้อย ธัญพืชต่างๆ และกินผัก – ผลไม้อย่างน้อย 400 กรัม / วัน ไม่อด ไม่งดอาหารมากจนเกินไป เพื่อให้สามารถควบคุมอาหารได้ดีมากยิ่งขึ้น

2. เคลื่อนไหว และออกกำลังกายแบบแอโรบิคอย่างสม่ำเสมอ เลือกความเข้มข้นปานกลาง โดยทำอย่างน้อยวันละ 30 – 40 นาที 4 – 5 วัน/สัปดาห์ สำหรับคนที่ไม่เคยออกกำลังกาย ควรเริ่มด้วยกิจกรรมเบาๆ เช่นการเดิน หรือ วิ่งจ๊อกกิ้ง ปั่นจักรยาน ทำต่อเนื่อง เพื่อให้ร่างกายเกิดความคุ้นเคย และพัฒนาความแข็งแรงขึ้น แล้วจึงค่อยๆ เพิ่มความเข้มข้นของกิจกรรมขึ้นทีละน้อย

3. เสริมการฝึกเวทเทรนนิ่ง เพื่อเพิ่มความแข็งแรง และปริมาณของกล้ามเนื้อ ที่มีส่วนช่วยในการเผาผลาญพลังงาน และทำให้ไขมันลดลง สำหรับผู้ที่ไม่เคยฝึกการออกกำลังกายแบบใช้แรงต้าน หรือ เวทเทรนนิ่ง อาจเริ่มต้นด้วยกิจกรรมแบบบอดี้เวทง่ายๆ โดยใช้แรงต้านจากน้ำหนักตัวเอง เช่นการทำท่า แพลงกิ้ง สควอช หรือซิทอัพ ก็ได้ หรือหากต้องการใช้ลูกน้ำหนัก หรืออุปกรณ์เสริมแรงต้าน ก็ควรศึกษาหาข้อมูล หรือรับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ก่อนลงมือปฏิบัติ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ หรืออันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการออกกำลังกายผิดวิธี