คลังความรู้ โรงพยาบาลแม่ลาว
งานวิจัยและพัฒนาเพื่อจัดการความรู้
โรงพยาบาลของชุมชน เพื่อสร้างสรรค์สุขภาวะอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน

โรคสมาธิสั้น ผู้ใหญ่ก็เป็นได้!

โรคสมาธิสั้น ผู้ใหญ่ก็เป็นได้!

โรคสมาธิสั้น (ADHD) หลายท่านเข้าใจว่าเกิดในเฉพาะเด็กเท่านั้น ผู้ใหญ่ก็สามารถพบได้เช่นกัน โดยลักษณะที่สำคัญของคนที่เป็นโรคสมาธิสั้น คือ จะมีปัญหาเกี่ยวกับการวางแผน การแก้ไขปัญหา ไม่สามารถจัดการกับเวลาได้เมื่อต้องทำงานที่มีกำหนดเวลา ทำงานไม่เสร็จ เพราะมีความผิดปกติของสมองส่วนหน้าที่เกี่ยวข้องกับความคิด การวางแผน การบริหารจัดการชีวิตในเรื่องต่างๆ (Executive Functions-EF) ติดมือถือ ตัวการทำสมาธิสั้น

อาการที่พบบ่อย  “โรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่”

  • วอกแวกง่าย ฟังอะไรจับใจความไม่ค่อยได้
  • ทำงานไม่เสร็จทันเวลาที่กำหนด ขาดความสามารถในการบริหารจัดการเวลาที่ดี
  • ทำงานผิดพลาดบ่อย หาอะไรไม่ค่อยเจอ
  • ผัดวันประกันพรุ่ง มาสายเป็นประจำ
  • หุนหันพลันแล่น ขาดความยับยั้งชั่งใจ ไม่คิดก่อนทำ ทำตามใจชอบ
  • อารมณ์ขึ้นลงเร็ว โกรธง่าย หายเร็ว
  • มีปัญหากับบุคคลรอบข้างบ่อยๆ
  • เบื่อง่าย คอยอะไรนานๆ ไม่ค่อยได้
  • เครียด หงุดหงิดง่าย
  • บางคนซึมเศร้า และวิตกกังวล นอนไม่หลับ

เครียดสะสม ภาวะอันตรายทำลายสุขภาพ

โรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ ส่งผลกระทบต่อการทำงาน รวมไปถึงความสันพันธ์กับคนรอบข้าง หากสงสัยว่า คุณกำลังเสี่ยงเป็นโรคสมาธิสั้นหรือไม่? แนะนำควรมาปรึกษาจิตแพทย์เพื่อวินิจฉัยและประเมินอาการ เพื่อวางแผนการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป วิธีการรักษาจะเป็นการรับประทานยา ร่วมกับการปรับพฤติกรรม และการปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม ฝึกการควบคุมอารมณ์ตนเอง ไม่ดีใจหรือเสียใจเร็วเกินไป


ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านี้ ช่วยบรรเทาอาการสมาธิสั้น

  • รู้จักสังเกตอารมณ์ของผู้อื่น รู้จักการรอคอย การรับฟัง เอาใจเขามาใส่ใจเรา
  • ลดความใจร้อน หุนหันพลันแล่น เช่น การขับรถ ควรขับให้ช้าลง
  • จัดตารางเวลาทั้งในการทำงานและการใช้ชีวิต มีการวางแผนไว้ล่วงหน้า
  • จัดวางสิ่งของให้เป็นระเบียน
  • ทำสิ่งที่ดีต่อตนเองและผู้อื่น เพื่อสร้างความภาคภูมิใจให้ตนเอง
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • รับประทานอาหารที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงอาหารประเภทน้ำตาลและคาเฟอีน
  • หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

โรคสมาธิสั้นรักษาได้! โดยส่วนใหญ่รักษาหายหรือควบคุมอาการได้ สามารถทำงานและใช้ชีวิตปกติได้ มีเพียงประมาณร้อยละ 30 ที่อาการอาจแย่ลงและมีปัญหาพฤติกรรม เช่น เสี่ยงต่อปัญหาการติดสุราและยาเสพติดอื่นๆ พฤติกรรมก้าวร้าว รวมทั้งมีปัญหาเรื่องการขับรถและประสบอุบัติเหตุได้ง่ายกว่าคนปกติ เพราะไม่มีใจจดจ่อ ครอบครัวและผู้ใกล้ชิดจึงต้องให้ความร่วมมือในการดูแล ให้กำลังใจและความเข้าใจ


อ้างอิงข้อมูลจาก: น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) (2559)

ขอขอบคุณข้อมูลจาก https://www.sikarin.com

หมวดหมู่
ข่าวสารล่าสุด
ข้อมูลข่าวสารล่าสุด