โรงพยาบาลแม่ลาว
คลังความรู้ งานวิจัยและพัฒนาเพื่อจัดการความรู้

โทรหาเรา
0 5360 3100 ต่อ 100

เด็กซนกับสมาธิสั้นต่างกันอย่างไร ?

เด็กซนกับสมาธิสั้นต่างกันอย่างไร ?

เชื่อว่าผู้ปกครองหลายท่านน่าจะเคยรู้จักกับโรคสมาธิสั้นกันมาบ้างแล้ว แต่ในเด็กนั้น หลายครั้ง ก็ยากที่แยกออกว่าพฤติกรรมเหล่านั้น คือพฤติกรรมซุกซน เพื่อการเรียนรู้ของเด็กที่มีพลังเยอะ หรือเป็นอาการของสมาธิสั้นที่ควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษกันแน่  ในบทความนี้จึงอยากชวนให้ผู้ปกครองทุกท่านมาทำความรู้จักโรคสมาธิสั้นให้มากขึ้น ซึ่งโรคสมาธิสั้น (Attention-deficit/Hyperactivity disorder: ADHD) เกิดขึ้นจากการทำงานที่ผิดปกติของสมองส่วนหน้า ซึ่งทำงานเกี่ยวกับการมีสมาธิจดจ่อ การยับยั้งชั่งใจ และการควบคุมการเคลื่อนไหว อันจะส่งผลให้เกิดอาการหลัก 3 ด้าน ดังนี้

ขอบคุณภาพจาก https://unsplash.com/photos/zRwXf6PizEo

1.ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อได้ (Inattention)

  • ไม่สามารถจอจ่อกับงาน หรือสิ่งใด ๆ ได้ แม้แต่กับบทสนทนา
  • บางครั้งมักจะเสียการโฟกัสจากงานนั้นได้โดยง่าย จนไม่สามารถทำงานที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จ
  • มีอาการเหม่อลอยบ่อย ๆ
  • ขี้ลืม มักจะลืมสิ่งของที่จำเป็น
  • มีปัญหาในการทำงานที่ต้องมีการจัดการ เช่น งานที่มีขั้นตอนในการทำ หรือ การจัดการเวลา

2.ซนมาก (Hyperactivity)

  • ไม่สามารถอยู่นิ่งได้ โดยมักจะขยับตัวไป แม้แต่ในเวลาที่ควรอยู่กับที่ เช่น ในห้องเรียน
  • พูดเร็ว พูดเก่ง พูดได้ต่อเนื่องไม่มีหยุด
  • เล่นได้แบบไม่มีเหนื่อย และมักเล่นกับเพื่อนแรง

3.หุนหันพลันแล่น (Implusivity)

  • มักทำอะไรโดยที่ไม่ได้มีการคิดก่อนจนหลายครั้งนำมาสู่อันตรายได้
  • ไม่สามารถรอคอยได้
  • มักจะไม่ฟังคำถาม หรือประโยคของคู่สนทนาให้จบก่อน โดยจะสวนตอบขึ้นมาเลย
  • มักจะทำอะไรแบบไม่คิดก่อน

ขอบคุณภาพจาก https://unsplash.com/photos/nuS2GDpCDoI

การเป็นโรคสมาธิสั้นนั้นไม่จำเป็นต้องมีอาการเหล่านี้ทั้งหมด ในเด็กบางคนอาจจะมีแค่อาการที่ไม่สามารถมีสมาธิจดจ่อได้ หรืออาจจะมีอาการเพียงซนมาก และหุนหันพลันแล่น (ซนมาก และหุนหันพลันแล่นนั้นมักมาคู่กัน)

โดยเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นจะแสดงอาการเหล่านี้ในแบบที่รุนแรง และบ่อยครั้งมากกว่าเด็กปกติที่อาจจะเป็นเพียงเด็กซุกซน จนส่งผลให้เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นนั้นมีปัญหาในการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นที่โรงเรียน หรือการเข้ากับเพื่อน ซึ่งการมีปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวันนี่เองเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยแยกว่าลูกของคุณนั้นเป็นเพียงเด็กที่ซน หรือเป็นโรคสมาธิสั้นกันแน่ ถ้าหากลูกของคุณยังสามารถเรียนหนังสือ หรือทำงานที่ได้มอบหมายได้ พฤติกรรมเหล่านั้นอาจจะถือเป็นพฤติกรรมของเด็กที่ซุนซนเพียงเท่านั้น หากคุณสงสัยว่าลูกอาจจะมีโอกาสเป็นโรคสมาธิสั้นควรไปพบผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์ หรือ นักจิตวิทยา เพื่อทำการวินิจฉัย และรักษาในลำดับต่อไป โดยหากปล่อยทิ้งไว้อาจส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตในระยะยาว

ครอบครัวเองก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยดูแลเด็กที่เป็นสมาธิสั้นได้ โดยผู้ปกครองควรทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด รวมถึงช่วยเหลือให้พวกเขาสามารถจัดการสิ่งต่าง ๆ อย่างเป็นระบบได้มากขึ้น ดังนี้

1.จัดตารางชีวิตของลูก ไม่ว่าจะเป็นเวลาตื่นนอน เวลาเข้านอน เวลาทานอาหาร หรือเวลาสำหรับกิจกรรมอื่น ๆ โดยให้เป็นตารางเวลาที่แน่นอนในทุก ๆ วัน

2.จัดระเบียบสิ่งของที่จะต้องใช้ในแต่ละวันให้เป็นระเบียบ และอยู่ในที่เดิมเสมอ

3.มีความชัดเจน และต่อเนื่อง เพราะกฎที่มีความต่อเนื่อง และคงเดิมนั้นจะช่วยให้พวกเขาสามารถเรียนรู้ และทำตามได้มากกว่าการที่เปลี่ยนสิ่งที่ตกลงกันไว้ไปมา

4.หากพวกเขาสามารถทำตามกฎ หรือสิ่งที่ตกลงกันไว้ได้ ควรให้กำลังใจ คำชม หรือรางวัลเพื่อเสริมแรงให้พวกเขามีพฤติกรรมเหล่านั้นต่อไป

และสุดท้ายอยากให้ผู้ปกครองเข้าใจว่าเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นนั้น อาการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การที่เด็กซนมากจนเกินไป ไม่สนใจในสิ่งที่เราพูด หรือมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอื่น ๆ พฤติกรรมเหล่านั้นต่างเกิดขึ้นจากโรคของพวกเขา ไม่ใช่เพราะตั้งใจ และต้องการจะทำเช่นนั้น แต่เป็นเพราะพวกเขาไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดอีกประการ คือ การพยายามทำความเข้าใจ และคอยช่วยเหลือ ส่งเสริมให้เด็กที่เป็นสมาธิสั้นสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ต่อไป

Reference

National Institute of Mental Health

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

Verywellmind

หมวดหมู่
ข่าวสารล่าสุด